เรื่อง: ผิดกฏไม่อนุญาตปฏิรูป คอลัมน์ ใบตองแห้ง
 
 1095

My Name: admin ออฟไลน์
Administrator
เพศ: ชาย
  • ดูรายละเอียด
09 ต.ค. 14, 14:57:28น.
ไม่แปลกใจที่รายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปออกมา "ปฏิรูปข้างเดียว" หรือ "ปฏิรูปกันเอง" ในเมื่อสังคมไทยแตกแยกกันด้วยข้ออ้างม็อบหัวกรวย "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ขณะที่ผู้มีสิทธิ 20 ล้านเห็นควร "ปฏิรูปพร้อมเลือกตั้ง" ฉะนั้นเมื่อ คสช. อ้างความไม่สงบยึดอำนาจแล้วสั่งปฏิรูป ต่อให้ท่านอ้างว่าเป็นกลาง พร้อมร่วมมือกับทุกข้าง มันก็คือ "ปฏิรูปก่อน เลือกตั้ง" อยู่ดี

มิหนำซ้ำ ฝ่ายที่เอาเลือกตั้งซึ่งประกาศจุดยืนไม่เอารัฐประหาร ก็ถูกเรียกรายงานตัวชื่อยาวเป็นหางว่าว ใครไม่ไปถูกจับถูกตั้งข้อหา จะให้เสนอหน้าร่วมปฏิรูปได้อย่างไร ไม่เหมือนอีกฝ่ายกระดี๊กระด๊า หาองค์กรเสนอชื่อไม่ได้ยังไปหาวัดหานิติบุคคลอาคารชุด

พูดอย่างนี้ไม่ได้ปรักปรำว่า 173 ชื่อมีแต่เป่านกหวีดปี๊ดๆ เพราะยังมีทหาร มีข้าราชการ มีคนที่ "ดูกลางๆ" หรือมีความสามารถ เช่น "คุณอาช่อคูณ" ผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลแชมป์โลกเยอรมัน (ท่านเป็นพลอากาศโท) บางคนก็มีสายสัมพันธ์รัฐบาลเก่า เช่น พล.อ.ยุทธศักดิ์ "คลิปถั่งเช่า" หรือทนายยิ่งลักษณ์ ขณะที่คนดีเด่นดังอย่าง กกต.สมชัย หรือคุณหมอตุลย์ ที่ผมเอาใจช่วยลุ้นกลับหลุดโผ

มองอย่างให้ความเป็นธรรม คสช.ก็พยายามเกลี่ยโผ อุตส่าห์ตั้งรสนาเข้าไปร่วมปฏิรูปพลังงานกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย รสนาจะได้แสดงภูมิปัญญาเปล่งประกาย ฮิฮิ

ฉะนั้นใน สปช.แม้ดูว่าเสียงปี๊ดๆ ดังลั่น ก็ยังแซมด้วยผู้รู้ ผู้สามารถที่ปรารถนาดี มีความมุ่งมั่นจะปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งไม่ว่ากัน แต่จุดต่างคือพวกท่านยอมรับรัฐประหารเพื่อปฏิรูป ซ้ำหลายคนยังเชื่อว่าปฏิรูปภายใต้รัฐประหารกฎอัยการศึกมีโอกาสสร้างสิ่งดีๆ ให้ประเทศชาติมากกว่าบรรยากาศเสรีประชาธิปไตย แบบเดียวกับรัฐมนตรีที่เคยพูดว่าไม่เอารัฐประหาร แต่ตวัดลิ้นอ้างว่าทำประโยชน์ได้ ฟังแล้วซาบซึ้งใจ ยอมเสียคนเสียสัตย์เสียหลักการ เพื่อระบบสุขภาพของคนยากคนจน

คสช. ครม. สปช. สนช. และผู้สนับสนุนทั้งหลายมีความจริงใจที่จะปฏิรูปประเทศไหม ผมเชื่อว่าส่วนข้างมากจริงใจ แม้ไม่แน่ว่าใจจริง เพราะเกิดจากสถานการณ์บังคับ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนตื่นตัวมีส่วนร่วมกว้างขวาง ใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ แม้แตกเป็นสองข้าง เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เปรียบได้กับ "ปลาอานนท์พลิกตัว" ซึ่งอาจเปลี่ยนโครงสร้างสังคมการเมืองวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ผู้มีอำนาจมีสถานะในโครงสร้างเดิม ผู้ไม่ปรารถนาหรือหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีสถาบันกองทัพเป็นศูนย์กลาง จึงเห็นว่าจะต้องปฏิรูป บางอย่างเพื่อยืดอายุโครงสร้างนี้ไว้

แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่การปฏิรูปประชาธิปไตย ไม่ใช่การยกเครื่องใหม่ แค่ "ปิดซ่อม" เครื่องยนต์เก่า

การปฏิรูป 11 ด้านตาม คสช.กำหนดจึงไม่ต่างจากอาขยาน 12 ประการ ซึ่งผมไม่ได้ว่าผิดข้อไหน รักชาติศาสน์กษัตริย์กตัญญูรู้คุณคือคุณสมบัติเด็กไทย ปัญหาคือข้อไหนขาดไป ทำไมไม่พูดถึงสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค เท่าเทียม กล้าคิดกล้าโต้แย้ง ซึ่งเป็นหัวใจประชาธิปไตย มีแต่บอกให้เรียนรู้ รักษาวินัย "ประชาธิปไตยในโอวาท" ก็ตัดผมเกรียนท่องตามครู กันต่อไป

เป้าหมายการปฏิรูปภายใต้ คสช.จึงกลายเป็นหยุดยั้งความเรียกร้องต้องการมีส่วนร่วม ความตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งในทัศนะกองทัพคือสร้างความแตกแยก เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แต่ก็ฉลาด รู้จักสรุปบทเรียนว่าต้องพยายามทำสิ่งดีๆ ชดเชย เช่น ปฏิรูปพลังงาน พัฒนาระบบสุขภาพ เก็บภาษีที่ดิน มรดก ลดความเหลื่อมล้ำ เร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวกระโดดใหญ่ทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเกษตร วางมาตรการช่วยเกษตรกร ดังที่ท่านปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา จะจัดโซนนิ่ง จะออกกฎหมายอุดหนุนแบบอียู ไม่ต้องให้นักการเมืองมาจำนำข้าวประกันข้าวอีกต่อไป หรือที่มาใหม่ล่าสุดก็แจกเงินไร่ละพันเพื่อให้เป็นที่กล่าวขวัญว่า "รัฐประหารกินได้"

รับประกันว่าเราจะได้เห็นความพยายามทำ "สิ่งดีๆ" เหล่านี้ แม้ไม่ประกันว่าทำสำเร็จหรือเปล่า แต่อาจไม่ได้เห็นการปฏิรูปการศึกษาให้เด็ก "คิดเป็น" (เดี๋ยวเป็นโจชัว หว่อง อันตราย) ไม่ได้เห็นการปฏิรูประบบราชการให้มีประชาธิปไตยในองค์กร การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นก็ยังสงสัยว่า อ.จรัส สุวรรณมาลา จะขายฝันได้แค่ไหน ที่แน่ๆ ไม่ต้องไปฝันถึงปฏิรูปกองทัพปฏิรูปศาล ขณะที่การเมืองการเลือกตั้งก็ยังไม่รู้ว่าเนติบริกรจะพาเข้าคลองไปอย่างไร

นี่คือผิดกฏไม่อนุญาตอันยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็รู้แก่ใจกัน รัฐประหารเพื่อการปฏิรูป เมื่อท่านคิดว่าประชาชนเป็นเด็กที่ป้อนนมให้แล้วจะไม่ร้องงอแง มีกินแล้วไม่ต้องการสิทธิเสรีภาพ ก็วัดใจกัน กระนั้นยังไม่ได้พูดเลยนะว่าภายใต้โครงสร้างนี้จะปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำได้ จริงหรือ

โค๊ด: [Select]
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRReE1qTTFNVE0zTlE9PQ==&catid=07

Comment Facebook